CFP Journey EP1 : เข้าสู่อาชีพทางการเงิน

    ย้อนไป 3 ปีก่อน ผมเริ่มมีความสนใจด้านการลงทุนและมีความสนใจที่จะเข้าสู่สายอาชีพนี้ แต่ไม่รู้ว่าจะทำงานได้อย่างไร เพราะไม่ได้จบปริญญาตรีสายการเงินมาเลย บริษัทต่างๆจะรับเราทำงานไหม เมื่อหาข้อมูลก็พบว่า ในบรรดาอาชีพที่รับสมัครงานง่ายที่สุด คือ เซลล์ หรือ งานขายนั่นเอง ซึ่งงานด้านนี้ เพียงมีใบอนุญาตการขาย ก็สามารถทำงานได้แล้ว ซึ่งงานขายนี้จะมีอยู่ 2 สาย คือ สายลงทุน (ใบอนุญาตผู้ให้คำแนะนำการลงทุน IC License เพื่อขายกองทุนรวม) และสายประกัน (ใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกัน เพื่อขายประกัน) 
    ส่วนตัว ผมเลือกเข้าไปทำงานในสายประกัน เนื่องจากในตอนนั้นคิดว่า น่าจะเป็นงานที่ทำงานไปด้วยและมีเวลาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมไปได้ด้วย (ในตอนนั้นผมไม่มีฐานลูกค้าที่มีฐานะเลย การให้คำแนะนำเรื่องลงทุนจึงน่าจะยังไม่ใช่คำตอบให้ตัวเองอยู่รอดในอาชีพสายการเงินช่วงต้นได้ เนื่องจากรายรับหลักๆจากอาชีพผู้ให้คำแนะนำการลงทุน คือ ค่าธรรมเนียมการขายกองทุน ซึ่งค่อนข้างน้อยหากมีเงินภายใต้การแนะนำไม่มากพอ (ประมาณ 0.5-1.0% ของยอดขายต่อปี)) แต่ถ้าเทียบกับอาชีพตัวแทนประกันแล้ว ค่าคอมมิสชั่นมากกว่ากันมาก 
     ในอาชีพของตัวแทนประกันชีวิต จำเป็นต้องมีการรักษายอดขายและทำตามเงื่อนไขของบริษัทให้ครบ เพราะบริษัทประกันทุกที่ก็ต้องการตัวแทนขายที่เป็นมืออาชีพและตั้งใจทำงาน ตัวแทนประกันจะอยู่รอดได้ ก็จำเป็นต้องมีผลงาน ลูกค้าประกันก็จะได้รับประโยชน์จากความสามารถของตัวแทนเช่นกัน เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากบอกว่าอาชีพตัวแทนประกันชีวิตจึงเป็นอาชีพหนึ่งที่มีคุณค่าและสร้างประโยชน์อย่างมากต่อสังคมไทย
    ผมขอขยายความในเรื่องตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันภัยสักนิดนึงนะครับเพราะมีความแตกต่างของการทำงานพอสมควร การเป็นตัวแทนประกันชีวิต จะสามารถสังกัดบริษัทได้เพียงบริษัทเดียว แปลว่าจะได้รับเครื่องมือที่จำเป็นในการขาย การเข้าถึงข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่น ตัวแทนจะสามารถขายสินค้าของบริษัทนั้นได้เพียงแห่งเดียว ซึ่งก็จะได้รับสวัสดิการบางอย่างที่บริษัทให้แก่ตัวแทนด้วย เช่น โบนัสรายไตรมาส/รายปี ประกันกลุ่ม Security fund ฯลฯ แตกต่างจากนายหน้าประกันภัย ที่อาจต้องสมัครเป็นนายหน้าของบริษัทโบรกเกอร์ ซึ่งบริษัทนั้นจะมีสินค้าประกันภัยที่หลากหลาย ไม่จำกัดเพียงบริษัทเดียว แต่เท่าที่ผมเข้าใจ คือนายหน้าจะไม่สามารถเข้าสู่ระบบของบริษัทประกันได้เหมือนตัวแทนนะครับ ดังนั้น จะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ รวมรายรับจากกิจกรรมส่งเสริมการขายก็จะไม่ได้รับจากบริษัทประกันเช่นกัน (แต่อาจได้รับจากบริษัทที่ตนสังกัดแทน ตัวอย่างบริษัทโบรกเกอร์ประกันภัย อาทิ ศรีกรุงโบรกเกอร์ , Rabbit Care เป็นต้น)
    ส่วนใครที่ต้องการเข้ามาทำอาชีพตัวแทนประกันชีวิต สิ่งแรกที่ต้องทำคือการสังกัดบริษัท ถามเพื่อนหรือคนรู้จักที่เป็นตัวแทนเลยครับ เพราะตอนสมัครสอบขอใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิต จะต้องกรอกข้อมูลของบริษัทที่เราสังกัดด้วย ขั้นตอนสามารถศึกษาข้อมูลได้จาก https://www.oic.or.th/th/education/broker/register/life หรือ inbox มาสอบถามก็ได้ครับ ผมพอมีตัวอย่างข้อสอบ เนื้อหาติวสอบ อะไรแบบนี้เก็บไว้ด้วย เผื่อเป็นประโยชน์ก็พร้อมแบ่งปันครับ 
     สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นสายอาชีพนี้ ด้วยการเป็นผู้แนะนำการลงทุน โดยการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาต IC Plain ผมจะมาเล่าให้ฟังใน EP ต่อๆไปนะครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

CFP Journey EP0 : แนะนำตัว